รายละเอียดหลักสูตร
DKL230033 หลักสูตร 1 วัน (เฉพาะศิษย์เก่า)
ศูนย์ธรรมกมลา (ปราจีนบุรี)
09/12/2566 - 09/12/2566
ฆราวาส,แม่ชี,ภิกษุณี
ทั้งหมด
18 ปีขึ้นไป
ปิดรับลงทะเบียน
อาทิตย์, 09 กรกฎาคม 2023
ชาย ชาย -  ปิดรับลงทะเบียน
หญิง หญิง -  ปิดรับลงทะเบียน
   
คำแนะนำในการเข้าอบรม

คำแนะนำในการเข้าอบรม

วิปัสสนาเป็นวิธีการปฏิบัติกรรมฐานที่เก่าแก่ที่สุดวิธีหนึ่งของอินเดีย ซึ่งได้สาบสูญไปจากมนุษยชาติมาเป็นเวลานาน แต่ก็ได้กลับมาค้นพบ อีกครั้ง โดยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อกว่า 2,500 ปีมาแล้ว วิปัสสนาหมายถึง "การมองดูสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง" อันเป็นกระบวนการในการทำจิตให้ บริสุทธิ์โดยการเฝ้าดูตนเอง เราจะเริ่มต้นด้วยการเฝ้าสังเกตดูลมหายใจตามธรรมชาติ เพื่อทำให้จิตมีสมาธิ เมื่อมีสติที่มั่นคง เราก็จะก้าวไปสู่การเฝ้าสังเกตถึงการเปลี่ยน แปลงตามธรรมชาติของกายและจิต ซึ่งจะทำให้ได้พบกับสัจธรรมที่เป็นสากลคือ ได้เห็นความไม่เที่ยง(อนิจจัง) ความทุกข์ (ทุกขัง) และความไม่มีตัวตน (อนัตตา) การที่ได้ รู้เห็นถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริงเหล่านี้จากประสบการณ์ของท่านเองโดยตรง จึงเป็นวิธีการในการชำระจิตให้บริสุทธิ์ ธรรมะเป็นเรื่องสากล มีไว้สำหรับแก้ไขปัญหา ต่างๆ ที่เป็นสากล มิได้ผูกขาดเฉพาะศาสนาใดศาสนาหนึ่งหรือลัทธิใดลัทธิหนึ่ง ด้วยเหตุนี้บุคคลทุกคนจึงสามารถจะปฏิบัติได้อย่างเสรี โดยไม่มีข้อขัดแย้งในเรื่องของเชื้อ ชาติ ชั้นวรรณะ หรือศาสนา ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ และจะเป็นประโยชน์ต่อทุกๆ คนโดยทั่วถึงกัน

วิปัสสนานั้นมิใช่เป็น

  • พิธีกรรมที่มีพื้นฐานทาง ความเชื่อถืออย่างงมงาย
  • เรื่องบันเทิงทางปัญญาหรือปรัชญา
  • การพักฟื้น การหยุดพักผ่อน หรือโอกาสที่จะมาสังสรรค์กัน
  • การหลีกหนีจากปัญหาและ ความยุ่งยากในชีวิตประจำวัน
  • หากแต่วิปัสสนาเป็น

  • วิธีการในการขจัดความทุกข์
  • ศิลปะของการดำเนินชีวิตที่จะทำให้คนเราอยู่ในสังคมได้อย่างมี ความสุข
  • วิธีการทำจิตให้บริสุทธิ์ ซึ่งจะทำให้คนเราสามารถเผชิญกับความตึงเครียดและปัญหาในชีวิตได้ด้วยความสงบและความสมดุลทางจิตใจ

วิปัสสนากรรมฐานจึงมุ่งไปยังเป้าหมายทางจิตใจในระดับสูงสุด เพื่อการหลุดพ้นโดยสิ้นเชิงและเพื่อการบรรลุธรรม มิได้มีวัตถุประสงค์ เพื่อการบำบัดรักษาโรคทางกาย แต่ เนื่องจากเป็นผลพลอยได้จากการทำจิตให้บริสุทธิ์ จึงทำให้ความเจ็บป่วย อันเนื่องมาจากความเก็บกด ในจิตใจหมดไป แท้จริงแล้ว วิปัสสนาสามารถที่จะขจัดสาเหตุที่ทำให้ เกิดทุกข์ 3 ประการ คือ โลภ โกรธ หลง ได้ ถ้าได้ปฏิบัติต่อเนื่องกัน วิปัสสนาจะระบายความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันและแก้ปมในใจที่ผูกอยู่ เนื่องจากนิสัยดั้ง เดิมที่ชอบปรุงแต่งต่อสถานการณ์ต่างๆ เช่น ปรุงแต่งไปในทางที่ชอบหรือพอใจ (อันทำให้เกิดโลภะ) และไม่ชอบหรือไม่พอใจ (อันทำให้เกิดโทสะ) แม้ว่าวิปัสสนาจะพัฒนา ขึ้นมาโดยที่เป็นวิธีการหนึ่งของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่การปฏิบัติก็มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาพุทธเท่านั้น จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงใน เรื่องของศาสนาแต่อย่างใด วิธีปฏิบัติตั้งอยู่บนพื้นฐานธรรมดาสามัญที่ว่า มนุษย์ทุกคนต่างมีปัญหาเหมือนๆ กัน และวิธีการที่สามารถขจัดปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ จะต้อง เป็นวิธีที่เป็นสากล มีผู้ที่นับถือศาสนาอื่นๆ เคยได้รับผลจากการปฏิบัติวิปัสสนามาแล้ว โดยมิได้มีความขัดแย้งกับความเชื่อที่มีอยู่เดิม


วินัยในการปฏิบัติ

     กระบวนการทำจิตให้บริสุทธิ์โดยการสังเกตดูตนเองนี้ มิใช่เป็นเรื่องง่ายอย่างแน่นอน  เราจะต้องปฏิบัติอย่างจริงจัง ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องใช้ความพยายามของตนเองเท่านั้น จึงจะเข้าถึงการรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเอง  ไม่มีใครอื่นที่จะทำให้ได้  ดังนั้นวิปัสสนากรรมฐานจึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะปฏิบัติ และมีความเคร่งครัดต่อระเบียบ  เพื่อประโยชน์แก่ตนเอง และเป็นการคุ้มครองตนเองด้วย  กฎระเบียบต่างๆ จะเป็นส่วนที่ทำให้การปฏิบัติกรรมฐานสมบูรณ์ขึ้น  เวลา 10 วันนี้นับว่าเป็นระยะเวลาที่สั้นในการที่จะเจาะลึกเข้าไปถึงระดับจิตใต้สำนึก และเรียนรู้วิธีการที่ขจัดกิเลสที่ตกตะกอนอยู่ในส่วนลึกสุด (อนุสัยกิเลส) การปฏิบัติให้ต่อเนื่องโดยไม่พูดจาหรือเกี่ยวข้องกับใครเป็นเคล็ดลับของความสำเร็จของวิธีการนี้

      กฎระเบียบต่างๆ ที่กำหนดขึ้น ก็เพื่อรักษาการปฏิบัติแนวนี้ให้คงอยู่ได้  กฎเกณฑ์ต่างๆ มิได้ตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ของอาจารย์ผู้สอน หรือเพื่อความสะดวกในการบริหาร หรือเพื่อคัดค้านประเพณีคำสอน หรือความเชื่องมงายที่มีอยู่ในบางศาสนา  แต่เป็นสิ่งที่มีพื้นฐานมาจากประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติกรรมฐานนับพันๆ คนเป็นเวลาหลายปี และยังเป็นสิ่งที่มีเหตุผลเป็นวิทยาศาสตร์  การรักษากฎระเบียบจะก่อให้เกิดบรรยากาศที่เป็นระเบียบอันเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการปฏิบัติกรรมฐาน  การฝ่าฝืนกฎระเบียบย่อมจะทำให้เกิดมลภาวะ  ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องอยู่ให้ครบ 10 วัน  และจะต้องอ่านกฎระเบียบต่างๆอย่างใคร่ครวญ  ผู้ที่คิดว่าสามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เหล่านี้ได้เท่านั้น จึงควรจะสมัครเข้าปฏิบัติ  ผู้ที่มิได้เตรียมตัวที่จะใช้ความพยายามในการปฏิบัติอย่างเต็มที่ ไม่ควรสมัคร  เพราะจะเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์   นอกจากนี้ยังจะเป็นการรบกวนบุคคลอื่นที่ตั้งใจเข้ามาปฏิบัติด้วยความเคร่งครัดอีกด้วย ผู้เข้ารับการฝึกจะได้รับคำเตือนว่า หากเลิกฝึกก่อนที่จะจบการอบรม เนื่องจากเห็นว่ากฎระเบียบต่างๆ ยากที่จะปฏิบัติ จะทำให้เกิดอันตรายแก่ตัวผู้นั้น  รวมทั้งจะก่อให้เกิดความไม่สบายใจขึ้นมาได้  ในกรณีที่นับว่าร้ายแรงที่สุดก็คือ เมื่อถูกเตือนหลายครั้งแล้ว ยังไม่สามารถจะปฏิบัติตามกฎระเบียบได้  ก็จะถูกขอให้ออกไปจากการฝึกอบรม


ผู้ป่วยด้วยโรคทางจิตประสาท

     บุคคลที่ป่วยด้วยโรคทางจิต บางครั้งอาจต้องการสมัครมาเข้ารับการฝึกวิปัสสนาด้วยความเข้าใจผิดว่า  การปฏิบัติวิปัสสนาจะช่วยรักษา หรือบรรเทาอาการป่วยทางจิตของตน  แท้จริงแล้ว ความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ไม่ปกติสุขตลอดจนการได้รับการเยียวยาทางจิตประสาทด้วยวิธีต่างๆ มาแล้วนั้น  กลับจะเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติภาวนาจนถึงขั้นที่ทำให้ไม่ได้รับประโยน์ใดๆ เลยจากการมาเข้ารับการฝึกอบรม  หรืออาจทำให้ไม่สามารถอยู่รับการฝึกให้ตลอดหลักสูตรได้ด้วย  แม้การปฏิบัติวิปัสสนาจะเป็นประโยชน์สำหรับคนส่วนใหญ่  แต่ก็มิใช่เป็นการทดแทนการรักษาพยาบาลด้วยยาหรืออื่นใด  เนื่องจากศูนย์ปฏิบัติของเราให้บริการโดยอาสาสมัครทั้งสิ้น จึงทำให้ไม่สามารถที่จะดูแลบุคคลผู้มีปัญหาเหล่านี้โดยถูกต้องได้  ผู้มีปัญหาทางจิตประสาทจึงไม่ควรสมัครเข้ารับการอบรม


กฎระเบียบ

     พื้นฐานในการปฏิบัติวิปัสสนา คือ ศีล  ศีลจะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาสมาธิ  และกระบวนการทำจิตให้บริสุทธิ์นั้นจะเกิดขึ้นจากปัญญา คือการรู้แจ้งเห็นจริง


ศีล

     ผู้เข้าปฏิบัติวิปัสสนาทุกท่านจะต้องรักษาศีล 5 อย่างเคร่งครัด ได้แก่
1. เว้นจากการฆ่าสัตว์
2. เว้นจากการลักทรัพย์
3. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
4. เว้นจากการพูดเท็จ
5. เว้นจากการดื่มน้ำเมา
     สำหรับผู้ที่เคยผ่านหลักสูตรนี้มาแล้ว จะต้องถือศีล 8 ซึ่งมีเพิ่มเติม คือ
6. เว้นจากการบริโภคอาหารในยามวิกาล
7. เว้นจากการดูละครฟ้อนรำ และการใช้เครื่องหอมตกแต่งร่างกาย
8. เว้นจากการนอนบนที่นอนที่หนาและอ่อนนุ่ม
     ผู้ที่ได้เคยปฏิบัติมาแล้ว จะรักษาศีลข้อ 6 ได้ด้วยการดื่มแต่เพียงน้ำปานะหลังจากการพักในเวลา 5 โมงเย็น  ในขณะที่ผู้ปฏิบัติใหม่ อาจจะดื่มนม น้ำชา หรือรับประทานผลไม้ได้  อาจารย์ผู้สอนอาจจะยอมให้ผู้ที่เคยปฏิบัติมาแล้ว บางคนยกเว้นการรักษาศีลข้อนี้ได้ ถ้าหากบุคคลผู้นั้นมีปัญหาด้านสุขภาพ  ส่วนศีลข้อ 7 และ 8 นั้น ทุกคนจะต้องรักษา


การยอมรับอาจารย์ผู้สอนและวิธีการปฏิบัติ

     ในระหว่างการฝึก ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องรับที่จะปฏิบัติตามวิธีการ และคำแนะนำของอาจารย์ผู้สอนทุกประการนั่นคือ ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องปฏิบัติตามวิธีการปฏิบัติที่อาจารย์สอน โดยไม่มีการแต่งเติมหรือตัดทอนใดๆ ทั้งสิ้น  การยอมรับด้วยความเชื่อถือเท่านั้น ที่จะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกสามารถปฏิบัติได้อย่างขยันขันแข็งโดยตลอด  ซึ่งการยอมรับนี้ก็ควรจะมีการแยกแยะและทำความเข้าใจด้วย  มิใช่เป็นไปเพราะถูกบังคับหรือหลงงมงายเหมือนคนตาบอด  ความเชื่อมั่นที่มีต่ออาจารย์ผู้สอนและวิธีการปฏิบัติ จำเป็นอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการปฏิบัติวิปัสสนา


พิธีกรรมและวัตรทางศาสนาตลอดจนวิธีการปฏิบัติอื่นๆ

     ในระหว่างการฝึก สิ่งที่สำคัญมากคือ จะต้องงดพิธีกรรมและวัตรทางศาสนาต่างๆ ทั้งหมด เช่น การจุดตะเกียงนับลูกประคำ ท่องมนต์ อดอาหาร สวดมนต์ เป็นต้น  การปฏิบัติกรรมฐานแบบอื่นๆ หรือการปฏิบัติเพื่อการบำบัดรักษาอื่นๆ จะต้องเว้นด้วย เช่น การเดินจงกรม  การฝึกโยคะโดยใช้สมาธิ  ทั้งนี้มิใช่เป็นการคัดค้านการปฏิบัติวิธีอื่นๆ แต่เพื่อให้ได้ทดลองฝึกวิธีวิปัสสนาแบบนี้เพียงแบบเดียว  เพราะการนำวิธีปฏิบัติวิธีอื่นมาผสมปนเปกับวิธีปฏิบัตินี้ จะทำให้เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในการปฏิบัติ  หรืออาจจะทำให้การปฏิบัติไม่ได้ผลเลย  แม้ว่าอาจารย์ผู้สอนจะคอยเตือนซ้ำแล้วซ้ำอีกก็ตาม  แต่ก็ยังมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นในอดีต  เมื่อผู้รับการฝึกนำเอาวิธีการปฏิบัตินี้ไปรวมกับพิธีกรรมอื่นๆ จนทำให้เกิดอันตรายต่อผู้นั้น  ความสงสัยและความสับสนที่อาจเกิดขึ้นนั้นสามารถจะแก้ไขให้กระจ่างได้ โดยการไปพบอาจารย์ผู้สอน


การเข้าพบอาจารย์ผู้สอน

     หากมีปัญหาหรือความสับสนใดๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนา ควรจะไปขอคำอธิบายจากอาจารย์ผู้สอนเท่านั้น เวลาระหว่าง 12.00 - 13.00 น.จะเป็นเวลาที่จัดไว้ให้สำหรับเข้าพบเป็นการส่วนตัวกับอาจารย์ที่ที่พัก  แต่ท่านก็สามารถตั้งคำถามถามอาจารย์ได้ระหว่างเวลา 21.00 - 21.30 น.ในห้องปฏิบัติรวม
     การพบกับอาจารย์ผู้สอนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อขอคำอธิบายสำหรับปัญหาทั่วๆ ไปเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติ  จึงไม่ควรใช้โอกาสนี้ให้เสียไปกับการอภิปรายในเรื่องเกี่ยวกับปรัชญา หรือถกเถียงกันในประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานมีเอกลักษณ์ของตัวเองที่ผู้ปฏิบัติเท่านั้นจึงจะรู้ได้  ผู้ที่เข้ารับการฝึกจึงควรมุ่งที่จะปฏิบัติเพียงอย่างเดียว


การรักษาความเงียบ

     ผู้เข้ารับการฝึกทุกคนจะต้องรักษาความเงียบ นับตั้งแต่เริ่มต้นฝึกจนกระทั่ง 10.00 น. ของการฝึกวันที่ 10   การรักษาความเงียบนี้ รวมไปถึงความเงียบทั้งทางกาย วาจา และใจ  โดยจะต้องไม่มีการพูดจากับใครเลย  และจะต้องงดการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม ทั้งการออกท่าทาง การเขียนโน้ต หรือทำสัญญาณต่างๆ  แต่ผู้เข้ารับการฝึกสามารถพูดคุยกับอาจารย์ผู้สอนได้หากจำเป็น  และติดต่อกับผู้ดำเนินงานได้หากมีปัญหาเกี่ยวกับที่พัก อาหาร และอื่นๆ  แต่การติดต่อพูดจาเหล่านี้ ก็ควรมีให้น้อยที่สุด  ผู้เข้าฝึกทุกคนควรจะสร้างความรู้สึกว่า ตนเองกำลังปฏิบัติอย่างจริงจังเสมือนอยู่คนเดียว


คู่สมรส

     จะมีการแยกชายหญิง แม้กระทั่งคู่สมรสก็ไม่ควรมีการติดต่อกันในระหว่างการฝึก


การสัมผัสทางกาย

     จะต้องไม่มีการสัมผัสทางร่างกายใดๆ ทั้งสิ้น  ไม่ว่าจะระหว่างเพศเดียวกันหรือต่างเพศ  ตลอดระยะการฝึกและระหว่างที่อยู่ในศูนย์ฯ


โยคะและการออกกำลังกาย

     แม้การทำโยคะหรือการออกกำลังกายจะไม่ขัดต่อการปฏิบัติ  แต่ระหว่างการเข้ารับการฝึกอบรม 10 วันนี้ ก็ขออย่าให้มีการออกกำลังกายใดๆ ไม่ว่าจะเป็นโยคะ ท่าดัดตนบริหารร่างกายมือเปล่า หรือวิ่งจ๊อกกิ้ง  ทั้งนี้เนื่องจากศูนย์ปฏิบัติไม่มีสถานที่ที่จัดไว้โดยเฉพาะในเรื่องนี้   ถ้าต้องการออกกำลังกาย ให้ทำได้เฉพาะการเดินไปมาในระหว่างชั่วโมงพักผ่อน ในบริเวณที่กำหนดให้เท่านั้น


เครื่องราง ลูกประคำ หรืออื่นๆ

     สิ่งเหล่านี้ห้ามนำเข้ามาในบริเวณที่พัก  หากมีการนำเข้ามาโดยมิได้ตั้งใจ จะต้องนำไปฝากไว้กับผู้ให้บริการตลอด 10 วัน


ของมึนเมาและยา

     ห้ามนำเอายา เหล้า หรือของมึนเมา รวมทั้งยากล่อมประสาท ยานอนหลับ และยาระงับประสาท  หากจะต้องรับประทานยาเหล่านี้ตามที่แพทย์สั่ง จะต้องแจ้งให้อาจารย์ผู้สอนทราบล่วงหน้าก่อนการฝึก


สูบบุหรี่

     ห้ามสูบบุหรี่หรือเคี้ยวยาเส้นตลอดระยะเวลาการฝึก


อาหาร

     เนื่องจากศูนย์ฯ ไม่สามารถที่จะจัดหาอาหารพิเศษตามความต้องการของผู้ปฏิบัติกรรมฐานได้  จึงต้องขอให้ผู้เข้ารับการฝึกรับประทานอาหารมังสวิรัติที่จัดเตรียมไว้ให้  หากผู้ใดที่แพทย์สั่งให้รับประทานอาหารพิเศษ เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ  ก็ขอให้แจ้งให้ผู้ดำเนินงานทราบในเวลาลงทะเบียน


เสื้อผ้า

     เสื้อผ้าที่ใช้ควรเรียบง่ายและสวมสบาย  ไม่จำกัดสีหรือแบบ  แต่ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดตึง โปร่งบาง  เสื้อไม่มีแขน หรือกางเกงรัดรูป  ห้ามนุ่งกางเกงขาสั้นทั้งชายหญิง  และห้ามอาบแดดหรือเปลือยบางส่วนโดยเด็ดขาด  ข้อห้ามเหล่านี้มีความสำคัญมาก  ทั้งนี้เพื่อมิให้รบกวนบุคคลอื่น


ความสะอาด

     ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องอยู่ และปฏิบัติร่วมกันในห้องปฏิบัติธรรม  จึงจำเป็นที่จะต้องอาบน้ำทุกวัน และรักษาเสื้อผ้าให้สะอาด  ในบางครั้งอาจไม่มีบริการซักผ้า ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องซักเสื้อผ้าเอง  แต่ก็ควรทำในช่วงเวลาพักเท่านั้น หากเป็นไปได้ ควรเตรียมเสื้อผ้าให้เพียงพอที่จะใช้ตลอดระยะเวลาปฏิบัติ


การติดต่อภายนอก

     ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องอยู่ในบริเวณที่ใช้ฝึกตลอดการฝึก จะออกไปภายนอกได้เฉพาะในกรณีจำเป็นอย่างยิ่ง  และจะต้องได้รับอนุญาตจากอาจารย์ผู้สอนก่อน  ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องงดการโทรศัพท์ การเขียนจดหมาย และการพบปะกับผู้ที่มาเยี่ยมเยียน  นอกจากในกรณีฉุกเฉิน ผู้ที่มาเยี่ยมจะต้องมาติดต่อกับฝ่ายจัดการ


ดนตรี อ่านหนังสือ และเขียนหนังสือ

     ห้ามเล่นดนตรี ฟังวิทยุ และห้ามนำสิ่งที่ใช้เขียน หรืออ่านเข้ามาในสถานที่ฝึก  ผู้เข้ารับการฝึกไม่ควรรบกวนตนเองโดยการเขียนบันทึก  การห้ามเขียนและอ่าน ก็เพื่อที่จะได้ปฏิบัติกรรมฐานได้อย่างเคร่งครัด


เครื่องบันทึกเทปและกล้องถ่ายรูป

     สิ่งเหล่านี้จะใช้ได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากอาจารย์ผู้สอนเป็นพิเศษเท่านั้น


นาฬิกาปลุก นาฬิกาข้อมือที่มีเสียงบอกเวลา

     ห้ามนำมาใช้ในห้องปฏิบัติรวมอย่างเด็ดขาด และไม่ควรใช้นาฬิกาปลุกในที่พัก  เพราะจะเป็นการรบกวนผู้อื่น


ทุนทรัพย์ในการดำเนินงาน

     เพื่อให้การเผยแพร่ธรรมะเป็นไปโดยบริสุทธิ์ การฝึกอบรมดำเนินได้ด้วยเงินบริจาคเพียงอย่างเดียว  และการบริจาคก็จะรับจากผู้ที่ผ่านการฝึกมาแล้วเท่านั้น  เหตุผลก็คือ การบริจาคควรมาจากผู้ที่ได้ตระหนักถึงประโยชน์ของธรรมะที่มีต่อตนเอง  ซึ่งจะทำให้การบริจาคนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติ  หากท่านมีความปรารถนาที่จะแบ่งปันประโยชน์เหล่านี้กับผู้อื่น ท่านก็อาจจะกระทำได้ด้วยการบริจาคในวันสิ้นสุดการอบรม
     การรับบริจาคจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการอบรมธรรมะนี้ เป็นรายได้ทางเดียวสำหรับที่จะนำมาใช้จ่ายในการจัดการฝึกอบรม  โดยมิได้มีความสนับสนุนในด้านการเงินอื่นใด  ทั้งอาจารย์ผู้สอนและผู้ดำเนินงานก็ล้วนไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ จากการจัดการฝึกนี้  โดยวิธีนี้ ธรรมะจึงเผยแพร่ออกไปได้ด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ ไม่มีเรื่องผลประโยชน์ เข้ามาเกี่ยวข้อง  ดังนั้น ไม่ว่าการบริจาคของท่านจะมากหรือน้อย ก็ขอให้มาจากเจตนาที่บริสุทธิ์  เจตนาที่จะช่วยให้ผู้อื่นได้มีโอกาสพบกับธรรมะอันบริสุทธิ์เช่นเดียวกับท่าน  "เพราะเหตุว่า มีผู้ที่ได้ออกค่าใช้จ่ายให้กับการฝึกของข้าพเจ้ามาแล้ว ตอนนี้ขอให้เป็นโอกาสที่ข้าพเจ้าจะได้ให้กับผู้อื่นบ้าง"


สรุป

     สาระของกฎเกณฑ์และระเบียบต่างๆ อาจสรุปได้ดังนี้  "จงระมัดระวังการกระทำของตนให้มาก อย่ารบกวนผู้อื่น อย่าสนใจหากมีผู้อื่นรบกวน"  อาจเป็นไปได้ว่า ผู้เข้ารับการฝึกไม่สามารถเข้าใจเหตุผลของกฎระเบียบต่างๆ เหล่านี้หากเป็นเช่นนี้ควรจะไปขอคำอธิบายในเรื่องเหล่านี้กับอาจารย์ผู้สอน มิใช่ปล่อยให้ตนเองเกิดความเข้าใจผิด หรือเกิดความสงสัยมากขึ้น
     ดังนั้นการปฏิบัติตามระเบียบและความพยายามที่จะปฏิบัติให้มากที่สุดเท่านั้น ที่จะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกปฏิบัติได้ผลดี และได้รับผลตามความมุ่งหมาย  สิ่งที่จะต้องเน้นใน 10 วันนี้ก็คือ "ปฏิบัติ" ปฏิบัติให้เหมือนกับว่า เราอยู่เพียงคนเดียวในการฝึก  เพิกเฉยต่อสิ่งรบกวน และความไม่สะดวกสบายที่ต้องเผชิญอยู่ทั้งหมด  ปฏิบัติด้วยจิตที่มุ่งเข้าสู่ภายในเท่านั้น
     ประการสุดท้าย ผู้เข้ารับการฝึกควรระลึกไว้เสมอว่า ความก้าวหน้าในการปฏิบัติวิปัสสนาขึ้นอยู่กับบารมี (กุศลที่ได้สะสมมาแต่ปางก่อน) และปัจจัย 5 ประการคือ ความเพียร ความศรัทธา ความจริงใจ สุขภาพอนามัย และปัญญา
     ขอให้กฎเกณฑ์ต่างๆ และข้อแนะนำเหล่านี้เป็นประโยชน์แก่ท่าน  ขอให้ท่านได้รับผลสูงสุดจากการฝึกกรรมฐานนี้  เรายินดีที่ได้มีโอกาสให้บริการแก่ท่าน  ขอให้ทุกท่านได้รับความสงบและสันติสุขจากการปฏิบัติวิปัสสนาโดยทั่วกัน


ตารางเวลา

04:00 น. ระฆังปลุก
04:30 น. - 06:30 น. นั่งปฏิบัติในห้องปฏิบัติรวมหรือในที่พักส่วนตัว
06:30 น. - 08:00 น. อาหารเช้า
08:00 น. - 09:00 น. ปฏิบัติร่วมกันในห้องปฏิบัติรวม
09:00 น. - 11:00 น. ปฏิบัติในห้องปฏิบัติรวม หรือในที่พักส่วนตัวตามที่อาจารย์กำหนด
11:00 น. - 12:00 น. อาหารกลางวัน
12:00 น. - 13:00 น. พักผ่อน
13:00 น. - 14:30 น. ปฏิบัติในห้องปฏิบัติรวมหรือในที่พักส่วนตัว
14:30 น. - 15:30 น. ปฏิบัติร่วมกันในห้องปฏิบัติรวม
15:30 น  - 17:00 น. ปฏิบัติในห้องปฏิบัติรวมหรือในที่พักตามที่อาจารย์กำหนด
17:00 น. - 18:00 น. พักดื่มน้ำปานะ
18:00 น. - 19:00 น. ปฏิบัติร่วมกันในห้องปฏิบัติรวม
19:00 น. - 20:15 น. ฟังธรรมบรรยายในห้องปฏิบัติรวม
20:15 น. - 21:00 น. ปฏิบัติร่วมกันในห้องปฏิบัติรวม
21:00 น. - 2130 น. สอบถามข้อสงสัยกับอาจารย์เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม
21:30 น. พักผ่อน


*ท่านที่ต้องการสมัครหลักสูตรสติปัฏฐาน ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ ก) ต้องเคยเข้าปฏิบัติหลักสูตร 10 วันเต็มมาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง (ไม่นับรวมการเป็นธรรมบริกร), ข) ปฏิบัติตามแนวทางนี้มาไม่ต่ำกว่า 1 ปี, ค) มีความพยายามที่จะปฏิบัติด้วยตนเองเช้า-เย็นเป็นประจำ, ง) ไม่ได้ไปปฏิบัติแนวทางอื่น หลังจากที่เข้าปฏิบัติในหลักสูตร 10 วันครั้งสุดท้าย, จ) มีความพยายามที่รักษาศีล 5 ในชีวิตประจำวัน*


**ท่านที่ต้องการสมัครหลักสูตร 10 วันพิเศษ ต้องมีคุณสมบัติครบตามข้อกำหนดเช่นเดียวกับหลักสูตร 20 วัน แต่หลักสูตรนี้ไม่นับเป็นหลักสูตรระยะยาว จึงไม่จำเป็นต้องทิ้งช่วงอย่างน้อย 6 เดือนก่อนหรือหลังเข้าหลักสูตรระยะยาว สำหรับการสมัครให้ใช้ใบสมัครหลักสูตรระยะยาวโดยมีอาจารย์ผู้ช่วยเซ็นต์รับรอง**


***ท่านที่ต้องการสมัครธรรมบริกรของหลักสูตรระยะยาว กรุณาส่งใบสมัครทางอีเมล์หรือทางไปรษณีย์เท่านั้น ไม่สามารถกดปุ่มสมัครธรรมบริกรที่ด้านล่างนี้ เพื่อสมัครผ่านหน้าเว็บไซด์ได้***


****ท่านที่ต้องการสมัครหลักสูตรระยะยาวกรุณาอ่านคุณสมบัติของผู้สมัคร และดาวน์โหลดใบสมัครที่ http://www.thaidhamma.net/index.php?option=com_content&task=view&id=51&Itemid=53****